กู้ผิวหน้าโทรม ให้กระจ่างใส ห่างไกลริ้วรอย ด้วยวิตามินซี

วิตามินซีในปัจจุบัน มีหลากหลายรูปแบบ แต่เราจะเลือกใช้แบบไหนดี? เอาใจคนรักวิตามินซี...มาทำความรู้จักกับวิตามินซี
ว่ามีประโยชน์อย่างไรต่อผิวบ้าง?
วิตามินซี เป็นวิตามินที่สามารถละลายได้ในน้ำ พบได้ในผักผลไม้หลายชนิด ซึ่งร่างกายเราสามารถรับวิตามินซีเข้าสู่ผิวได้หลายวิธี ทั้งจากการกินอาหาร และจากการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว… ผิวที่มีสุขภาพดี หมดห่วงเรื่อง หน้าโทรม
หน้าหมอง จำเป็นจะต้องมีวิตามินซีในปริมาณที่สูงเพียงพอที่จะช่วยในกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของผิว อาทิ กระตุ้นการสร้างเส้นใยคอลลาเจน, ต่อต้านอนุมูลอิสระที่เข้ามาทำร้ายผิว รวมไปถึงต่อต้านภัยร้ายจากรังสียูวีได้อีกด้วย แต่ถ้าหากผิวขาดวิตามินซี จะมีผลทำให้ผิวบอบบาง แพ้ง่าย ผิวขาดน้ำ และมีความผิดปกติของเส้นผมหรือเส้นขน รวมไปถึงการสมานแผลที่จะเกิดขึ้นช้าด้วย จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่วิตามินซี จะเป็นสารสำคัญที่นิยมนำมาใส่ในเครื่องสำอางมากมายหลายชนิด ทั้งเซรั่ม และครีมบำรุงผิว
วิตามินซี ดีต่อผิวอย่างไร?
อย่างที่ทราบกันดีว่าวิตามินซีมีประโยชน์มากมาย ดังนั้นเรามาลองทำความรู้จักบทบาทของวิตามินซีกันดีกว่า
ว่าวิตามินซี ดีต่อผิวอย่างไร?
ป้องกันการสลายตัวของคอลลาเจน
วิตามินซี มีส่วนช่วยในการป้องกันการสลายตัวของคอลลาเจนในชั้นผิวผ่านการทำงานของ proline และ lysine hydroxylases อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนผ่านทางเซลล์ไฟโบรบลาสท์ ได้อีกด้วย จึงช่วยในการลดเลือนริ้วรอย ทำให้ผิวแข็งแรง ดูเฟิร์มกระชับแน่นมากยิ่งขึ้น
ต่อต้านอนุมูลอิสระ
นอกจากนี้วิตามินซียังสามารถต่อต้านอนุมูลอิสระ และช่วยลดความรุนแรงจากสารพิษได้ ทั้งอนุมูลอิสระที่พบได้ในสิ่งแวดล้อม มลภาวะต่าง ๆ รวมไปถึงอนุมูลอิสระที่เกิดจากรังสียูวี ทั้งนี้ยังพบอีกว่า หากวิตามินซี ได้ทำงานร่วมกับวิตามินอี จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการต่อต้านอนุมูลอิสระได้มากยิ่งขึ้นไปอีก จึงช่วยป้องกันและลดเลือนริ้วรอยก่อนวัยได้เป็นอย่างดี
ต่อต้านการสร้างเม็ดสีผิวเมลานิน
ต้นเหตุของการเกิดกระ ฝ้า จุดด่างดำ ผ่านการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อว่า Tyrosinase ดังนั้นวิตามินซี จึงช่วยทำให้ผิวขาวกระจ่างใสขึ้นได้ ด้วยการป้องกันการสร้างเมลานินที่จะเกิดใหม่ในผิว
ช่วยในกระบวนการต่าง ๆ ผ่านการส่งสัญญาณของเซลล์
เช่น กระตุ้นการสร้างเส้นใยอิลาสติน เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับชั้นผิว, ช่วยในกระบวนการสมานผิว ทำให้แผลหายเร็ว, เพิ่มการผลิตสารที่ช่วยพยุงผิว กลุ่ม Glycosaminoglycan และยิ่งไปกว่านั้น วิตามินซี ยังช่วยซ่อมแซม DNA ที่ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระได้ด้วย
จะเห็นได้เลยว่า วิตามินซี มีประโยชน์อย่างมากในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งผิวแต่ละชั้นมีปริมาณและความต้องการวิตามินซี
ที่แตกต่างกัน จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์หลายคน พบว่าปริมาณของวิตามินซี ในผิวชั้นนอก หรือผิวชั้น epidermis จะมีอยู่ที่ 6-64mg/100g ส่วนในผิวชั้นใน หรือ Dermis จะมีอยู่ที่ 3-13mg/100g [1-3] และเมื่อเราอายุเพิ่มมากขึ้น ปริมาณวิตามินซี ในผิวจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมไปถึงผิวที่ถูกทำร้ายจากรังสียูวี ผิวที่มีปริมาณอนุมูลอิสระสูง หรือผิวที่เผชิญกับมลภาวะ ก็จะมีปริมาณของวิตามินซีที่ลดลงด้วย
นั่นหมายความว่าเราควรเติมวิตามินซี กลับเข้าสู่ผิว เพื่อชดเชยส่วนที่สูญเสียไปจากการทำลายที่เกิดจาก กิจกรรมและไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็คือปัจจัยทำร้ายผิว Exposome นั่นเอง แต่การจะเติมวิตามินซี กลับเข้าสู่ผิวไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เนื่องจากชั้นผิว โดยเฉพาะชั้นนอกสุดหรือที่เราเรียกว่า Stratum corneum เป็นชั้นปราการผิวที่ประกอบไปด้วยเซลล์ผิวหนัง และชั้นไขมันที่คอยป้องกันไม่ให้สารต่าง ๆซึมเข้าสู่ผิวได้อย่างง่ายดาย นั่นหมายความว่า วิตามินซี ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ จะสามารถซึมเข้าสู่ผิวได้ยาก หากรูปแบบของผลิตภัณฑ์ออกแบบมาไม่เหมาะสม และเอื้อต่อการดูดซึมของวิตามินซี
การดูดซึมและความคงตัวของวิตามินซี
จากการวิจัยพบว่า วิตามินซี จะซึมเข้าสู่ผิวได้ จะต้องอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า pure ascorbic acid และอยู่ในสภาวะที่มีค่า pH หรือค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ต่ำกว่า 4 จึงจะสามารถดูดซึมเข้าสู่ผิวได้ แต่การนำวิตามินซีบริสุทธิ์มาใช้ก็ยังมีความท้าทายเรื่องความคงตัว เพราะวิตามินซีบริสุทธิ์เป็นสารที่สลายตัว และเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้ง่าย จึงต้องมีสารอื่นเข้ามาช่วยให้วิตามินซีบริสุทธิ์มีความคงตัวมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น นีโอเฮสเพอริดิน และสารสกัดจากเปลือกสนฝรั่งเศส เป็นต้น
อนุพันธ์ของวิตามินซี
อีกทางเลือกหนึ่งคือ การใช้อนุพันธ์ของวิตามินซี แต่เราจะเลือกอนุพันธ์ของวิตามินซีตัวไหน ที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ... อนุพันธ์เจนเนอเรชั่นที่นิยมใช้กัน เช่น
- วิตามินซี ฟอสเฟต ซึ่งมีความคงตัวมากขึ้น ไม่สลายตัวง่าย สามารถเปลี่ยนไปเป็นวิตามินซีบริสุทธิ์ที่ผิวได้ แต่ข้อจำกัดคือการซึมเข้าสู่ผิวเกิดขึ้นได้น้อย
- วิตามิน ซีจี (Ascorbyl glucoside) ที่มีความคงตัวสูงเช่นกัน และสามารถซึมเข้าสู่ผิวได้ดีกว่ารุ่นที่เป็นรูปแบบฟอสเฟต
เมื่อเรารู้แบบนี้แล้ว ก็ควรเลือกใช้วิตามินซี ที่สามารถดูดซึมเข้าไปทำงานที่ผิวของเรา ยกตัวอย่างเช่น ใช้วิตามินซีบริสุทธิ์ในผลิตภัณฑ์ที่มีการปรับค่า pH ให้ต่ำกว่า 4 หรือเลือกใช้อนุพันธ์ของวิตามินซี เช่น วิตามินซี กลูโคไซด์ ที่สามารถดูดซึมเข้าสู่ผิวและเปลี่ยนไปเป็นวิตามินซีบริสุทธิ์ในผิวได้ นอกจากนี้แล้ว ควรทำควบคู่กับการปกป้องผิวจากปัจจัยทำร้ายผิวต่าง ๆ เช่น มลภาวะ รังสียูวี อนุมูลอิสระ หรือปัจจัยทำร้ายผิว Exposome อื่น ๆ เพื่อทำให้วิตามินซีในผิวถูกทำลายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากดูแลผิวได้แบบนี้แล้ว มั่นใจได้เลยว่า ผิวจะสวย กระจ่างใส ห่างไกลริ้วรอยไปอีกนานเลย
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก ภก. บดินทร์ หลักทอง เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์เวชสำอางวิชี่ ที่ให้ความรู้กับเกี่ยวกับบทความเรื่อง ประโยชน์จากวิตามินซีที่ดีต่อผิว เพราะวิตามินซี ถือเป็นวิตามินพื้นฐานของร่างกายไม่ได้ดีแค่กับสุขภาพ แต่ยังดีต่อสุขภาพผิวของคุณอีกด้วย
-
Rhie, G.; Shin, M.H.; Seo, J.Y.; Choi, W.W.; Cho, K.H.; Kim, K.H.; Park, K.C.; Eun, H.C.; Chung, J.H. Aging- and photoaging-dependent changes of enzymic and nonenzymic antioxidants in the epidermis and dermis of human skin in vivo. J. Investig. Dermatol. 2001, 117, 1212–1217.
-
Shindo, Y.;Witt, E.; Han, D.; Epstein,W.; Packer, L. Enzymic and non-enzymic antioxidants in epidermis and dermis of human skin. J. Investig. Dermatol. 1994, 102, 122–124.
-
McArdle, F.; Rhodes, L.E.; Parslew, R.; Jack, C.I.; Friedmann, P.S.; Jackson, M.J. UVR-induced oxidative stress in human skin in vivo: Effects of oral vitamin C supplementation. Free Radic. Biol. Med. 2002, 33, 1355–1362.
-
Juliet M. Pullar, Anitra C. Carr and Margreet C. M. Vissers. The Roles of Vitamin C in Skin Health. Department of Pathology, University of Otago, Christchurch, P.O. Box 4345, Christchurch 8140, New Zealand